แก้วแสนเดงกีโมเดล: โมเดลตำบลประชารัฐแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก”

แก้วแสนเดงกีโมเดล เป็นการวางระบบแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกโดยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาชนของตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอนาบอน นายคนึง ชูพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน นางณิชมน รัตนคช สาธารณสุขอำเภอนาบอน ผู้นำท้องที่ แกนนำท้องถิ่น อสม. ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเครือข่ายสุขภาพตำบลแก้วแสนทุกภาคส่วน ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง และคณะ ตลอดถึง คุณชุมพร ผลประเสริฐ ตัวแทนจาก "ลานสกาโมเดล "

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมตั้งแต่เดือน มกราคม-ตุลาคม 2562 มีอัตราป่วย 434.89 รายต่อแสนประชากร โดยตำบลแก้วแสน มียอดผู้ป่วยสะสม 30 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 108.55 รายต่อแสนประชากร ทำให้วิธีการแก้ปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย “ทำให้ง่าย ทำพร้อมกัน ทำเป็นทีม และทำต่อเนื่อง” เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน โดยดำเนินการแก้ปัญหาผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ด้วยการนำขององค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรด้านสุขภาพ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น โรงเรียน ตลอดถึงแกนนำที่สำคัญคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจาก 10 หมู่บ้าน ในตำบลแก้วแสนของอำเภอนาบอน ดังนั้นจึงมีความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ


1. สร้างเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของตำบลแก้วแสน
2. เสริมสร้างให้ประชาชนมีการจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านตนเองและกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างจริงจัง
3. เกิดนวัตกรรมในการดำเนินการแก้ปัญหาไข้เลือดออกของแต่ะหมู่บ้าน
4. ลดค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (BI HI และ CI) ในพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้านของตำบลแก้วแสน
5. ลดอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้านของตำบลแก้วแสน

นายคนึง ชูพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน เป็นแกนนำหลักในการดำเนินการและเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ตำบลแก้วแสน พร้อมทั้งให้กำลังใจในการดำเนินการ ตลอดถึงความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยดำเนินการในวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2563 โดยจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย คือ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยดำเนินการประชุมแกนนำผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ตำบลแก้วแสน ณ ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน มีตัวแทนแกนนำเข้าร่วมประชุมจำนวน 50 คน ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาบอน


วันที่ 28 และ 29 พฤษภาคม 2563 ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาสมรรถนะฯ และติดตั้งระบบดัชนีลูกน้ำยุงลายมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น อสม. แกนนำระดับหมู่บ้าน อสม. หัวหน้าโซน และ อสม.ประจำบ้าน โดยวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เป็นการดำเนินการของแกนนำของอสม. ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแก้วแสน และ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 การดำเนินการของแกนนำของ อสม. ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองยาง รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 163 คน จำแนกเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 6 คน ผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กกรมการหมู่บ้าน) 20 คน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน 16 คน ตัวแทนสถานศึกษา 12 คน และ อสม. 109 คน ในการดำเนินการของกิจกรรมทั้ง 3 วันทางสำนักสาธารณสุขอำเภอนาบอน ได้ควบคุมการจัดกิจกรรมตามข้อกำหนดของการเว้นระยะห่างทางสังคม การวัดอุณภูมิร่างกายก่อนเข้าประชุม การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการสวมหน้ากากอนามัย โดยหลังการดำเนินการตลอด 45 วันไม่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ของผู้เข้าร่วมประชุม


ทั้งนี้การติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายของตำบลแก้วแสนได้กำหนดการสำรวจลูกน้ำทั้งตำบล ทุกวันที่ 25 ส่งต่อหัวหน้าโซนในวันที่ 28 และรวบรวมประธานหมู่บ้าน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในวันที่ 30 ของเดือน มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการประมวลผล สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลายของ อสม. ทุกคน จะเป็นการยืนยันการได้มาของข้อมูลในระบบเฝ้าระวังฯ ตลอดถึงการขยายผลไปยังทุกครัวเรือนของพื้นที่ตำบลแก้วแสน


โมเดลตำบลประชารัฐแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ของตำบลแก้วแสนเน้นเครือข่ายของ 4 กลุ่มคนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม A คือผู้ผลิตข้อมูลที่เป็นประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน กลุ่ม B คือศูนย์เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่ม C คือ กลุ่มผู้ใช้ข้อมูลในพื้นที่ และกลุ่ม D กลุ่มสนับสนุนให้ความสะดวกกับการดำเนินการ